ธรรม(ดา) พา “ลัดเลาะย่านมังกรในเมืองกรุง”

เมื่อพูดถึง “เยาวราช” สิ่งแรกที่ทุกคนมักนึกถึงคือ ร้านอาหารสุดอร่อยยามค่ำคืนมากมายเต็มสองฟากถนน จนเราอาจลืมไปว่าในตอนกลางวันย่านเยาวราชนี้ก็มีวิถีชีวิตชาวไทยเชื้อสายจีนที่น่าสนใจ มีวัด ศาลเจ้า และศาสนสถานต่างๆ ซ่อนตัวอยู่ให้เราได้ไปสักการบูชา วันนี้แอดจึงอยากจะชวนเพื่อนๆ ไปเดินเที่ยวเยาวราชตอนกลางวันกันดูบ้าง ถือเป็นอีกบรรยากาศหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ เลยทีเดียวล่ะ และที่สำคัญคือสถานที่แต่ละแห่งที่เราจะพาไปนั้นระยะทางไม่ไกลกันเลย จะมีที่ไหน ไปทำอะไรบ้าง ตามแอดไปกันเลย

การเดินทาง
โดยรถเมล์ สาย 1, 4, 7, 25, 53, 73 และ 501

โดยรถไฟใต้ดิน MRT ลงสถานีหัวลำโพง แล้วเดินต่อไปยังถนนเยาวราชประมาณ 700 เมตร หรือขึ้นรถเมล์สาย 1, 4, 7, 25, 53, 73, 501

พิกัด : https://goo.gl/maps/5xkAdqKTRKH2

เริ่มที่แรกกันที่ วัดไตรมิตรวิทยาราม
เป็นวัดโบราณที่มีชื่อเดิมว่า “วัดสามจีนใต้” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของสถานีรถไฟหัวลำโพง เดินประมาณ 5-10 นาที

สิ่งสำคัญภายในวัด คือ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือที่เรียกกันว่า พระสุโขทัยไตรมิตร ประดิษฐานอยู่ภายในพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มณฑป 4 ชั้นสูงสง่า
พิกัด : https://goo.gl/maps/cVjnQ5Soq5U2

พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร หรือ พระสุโขทัยไตรมิตร 

ประดิษฐานอยู่บนชั้น 4 ของพระมหามณฑปฯ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย ที่ทำจากทองคำแท้องค์ใหญ่ที่สุดในโลก 

สร้างจากทองคำที่เรียกว่าทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา องค์พระมีน้ำหนัก 5.5 ตัน หน้าตักกว้าง 3.01 เมตร และสูง 3.91 เมตร

ภายในชั้น 3 ของพระมหามณฑปฯ จัดแสดงนิทรรศการหลวงพ่อทองคำ “จากพุทธศิลป์สุโขทัย สู่พุทธสมัยปัจจุบัน” 

บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อทองคำ ตั้งแต่การสร้าง การเคลื่อนย้ายมาประดิษฐานยังวัดไตรมิตร การสร้างพระมหามณฑปเพื่อประดิษฐานหลวงพ่อทองคำ รวมถึงประวัติของวัดไตรมิตรด้วย

ลงมาที่ชั้น 2 เป็นพื้นที่ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช “ความรุ่งเรืองบนถนนสายทองคำ” บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ที่ย่านเยาวราชแห่งนี้ 

มีการจัดแสดงที่ทันสมัยและน่าสนใจ มีแผ่นป้ายให้ความรู้ 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และจีน

เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 08.00-16.30 น.
ค่าเข้าชม ชาวต่างชาติ 100 บาท (รวมชั้น 2 และ ชั้น 3)

อีกจุดที่น่าสนใจคือ “พระพุทธทศพลญาณ” พระประธานภายในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย หรือที่เรียกกันว่า “หลวงพ่อโต” หรือ “หลวงพ่อวัดสามจีน” ซึ่งประชาชนนิยมมาบนบานศาลกล่าวอยู่เสมอ 

และที่สำคัญพระพุทธรูปองค์นี้ยังเป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสยกย่องว่ามีพุทธลักษณะงดงามมากอีกด้วย

ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา (วงเวียนโอเดียน)

ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดถนนเจริญกรุง เดินจากวัดไตรมิตรมาประมาณ 3 นาที วงเวียนแห่งนี้เดิมเป็นวงเวียนน้ำพุ ปัจจุบันปรับปรุงเป็นซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2542 ปัจจุบันกลายเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของย่านไชน่าทาวน์

ที่มาของชื่อวงเวียนโอเดียน มาจากโรงภาพยนตร์โอเดียน ซึ่งเคยตั้งอยู่บริเวณนี้ แต่ได้เลิกกิจการและรื้อทิ้งไปแล้ว
พิกัด : https://goo.gl/maps/s4s1Znt5Dqk

ศาลเจ้าแม่กวนอิม มูลนิธิเทียนฟ้า

จากวงเวียนโอเดียนเดินต่อมาประมาณ 5 นาที มูลนิธิเทียนฟ้าก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2445 เป็นมูลนิธิแห่งแรกของประเทศไทย โดยการรวมตัวกันของชาวจีน 5 ภาษา เพื่อสงเคราะห์ผู้ยากไร้ ให้ได้รับการรักษาพยาบาล
พิกัด : https://goo.gl/maps/LaTMYhgmvXs 

ภายในประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ปางประทานพร ผู้คนนิยมมาขอพรให้ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บและมีสุขภาพแข็งแรง 

สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยราชวงศ์ซ่ง หรือเมื่อประมาณ 800-900 ปีมาแล้ว และได้อัญเชิญมาจากประเทศจีนมาประดิษฐานยังที่แห่งนี้เมื่อ พ.ศ.2501

ไหว้ขอพรเสร็จแล้ว เดินไปต่อกันที่ ร้านเอี๊ยะแซ กาแฟโบราณ 

จากศาลเจ้าแม่กวนอิม เดินมาประมาณ 4 นาทีก็ถึงแล้ว
พิกัด : https://goo.gl/maps/VV4cc4EMv3D2

ร้านเอี๊ยะแซ กาแฟโบราณ เป็นร้านเก่าแก่ของย่านเยาวราชที่เปิดมานานกว่า 80 ปี 

ทุกวันจะมีผู้สูงอายุมานั่งจิบกาแฟกันที่นี่ เหมือนเป็นที่พบปะสังสรรค์พูดคุยกัน ตอนเดินเข้าไปอย่าตกใจล่ะว่าทำไมไม่มีวัยรุ่นเลย ฮ่าๆๆ

แอดสั่งมอคค่าเย็น กับโกโก้เย็น รสชาติถือว่าดี แต่บรรยากาศนั้นยิ่งกว่า ต้องเรียกว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว

ภายในร้านใช้โต๊ะเก้าอี้ไม้สไตล์จีนสีเข้ม ดูเก่าแก่แต่แข็งแรง เพิ่มมนต์ขลังให้ร้านดูคลาสสิกและน่าค้นหามากยิ่งขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นเสน่ห์ที่หาได้ยากในปัจจุบัน

กาแฟของที่นี่มีสโลแกนว่า “คั่วสดๆ ชงใหม่ๆ วันต่อวัน” 
เปิดทุกวัน เวลา 05.00-20.00 น.
พิกัด : https://goo.gl/maps/VV4cc4EMv3D2

เดินไปต่อกันที่ วัดบำเพ็ญจีนพรต

จากร้านเอี๊ยะแซ กาแฟโบราณ เดินมาประมาณ 5 นาที

เดิมชื่อวัด ยางฮกอำ สันนิษฐานว่าสร้างโดยชาวจีนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ต่อมาพระอาจารย์สกเห็งได้ปฏิสังขรณ์วิหารพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พร้อมกับเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “ย่งฮกยี่” ในราว พ.ศ.2430 

และยังได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามวัดจากรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานนามวัดให้ใหม่ว่า “วัดบำเพ็ญจีนพรต”

อุโบสถมีขนาดเพียง 7.80 เมตร ยาว 10.20 เมตร นับเป็นวัดจีนขนาดเล็กมากที่ยังมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ เป็นอาคารโครงสร้างไม้แบบจีน หลังคามุงกระเบื้องดินเผากาบกล้วยแบบจีน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญๆ มากมาย
พิกัด : https://goo.gl/maps/2knfJWJQj5D2

ตรงข้ามวัดบำเพ็ญจีนพรต มีร้านอาหารชื่อ ร้านไท้เฮงข้าวมันไก่

“ไท้เฮง” เป็นภัตตาคารที่เริ่มเปิดขายบนถนนเยาวราชมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463 ซึ่งในช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นภัตตาคารแห่งแรกที่ขายข้าวมันไก่ และสุกี้ยากี้แบบไหหลำที่ใช้เตาถ่าน

ข้าวมันไก่ของที่นี่นั้นเนื้อไก่มีความเหนียวนุ่มไม่เหมือนใคร น้ำจิ้มเข้มข้น และที่สำคัญราคาไม่แพงด้วย

ส่วนสุกี้ยากี้ มีจุดเด่นอยู่ที่น้ำหมักที่คลุกเคล้าอยู่ในเนื้อสัตว์และผักที่เข้ากันอย่างลงตัว ประกอบกับน้ำจิ้มเด็ดสูตรเฉพาะ ซึ่งทำให้ไท้เฮงยังคงเป็นตำนานความอร่อยของข้าวมันไก่และสุกี้ยากี้บนถนนเยาวนราชจนถึงปัจจุบัน

เดินต่อออกมาอีก 5 นาที ก็จะถึง วัดมังกรกมลาวาศ หรือวัดเล่งเน่ยยี่ นั่นเอง

เป็นวัดจีนสังกัดคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2414 ใช้เวลาสร้าง 8 ปี ได้รับพระราชทานนามวัดจากรัชกาลที่ 5 ว่า “วัดมังกรกมลาวาศ” 

ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัดเป็นแบบจีนทางตอนใต้ของสกุลช่างแต้จิ๋ว โดยวางแปลนตามแบบวัดหลวง คือ มีวิหารท้าวจตุโลกบาลเป็นวิหารแรกอยู่ทางด้านหน้า ตรงกลางเป็นพระอุโบสถ และด้านหลังพระอุโบสถเป็นวิหารเทพเจ้า

จากประตูทางเข้าถึงวิหารท้าวจตุโลกบาล จะเห็นเทพเจ้า 4 องค์ (ข้างละ 2 องค์) ในชุดนักรบจีน ชาวจีนเรียกว่า “ซี้ไต๋เทียงอ้วง” หมายถึง เทพเจ้าที่ปกปักรักษาคุ้มครองทิศทั้ง 4

ด้านในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ 3 องค์ ได้แก่ พระศากยมุนีพุทธเจ้า พระอมิตาภพุทธเจ้า และพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า นอกจากนี้ภายในวัดยังมีเทพเจ้าองค์อื่นๆ อีก รวมแล้วกว่า 58 องค์

เปิดให้สะเดาะเคราะห์ทุกวัน ตั้งแต่ 06.00-18.00 น.
พิกัด : https://goo.gl/maps/6Q7TMJkf4tP2

ปิดท้ายกันด้วยของหวาน เติมน้ำตาลเพิ่มความสดชื่นกันด้วย “ลอดช่องสิงคโปร์” ที่หากินไม่ได้ในสิงค์โปร์ ฮ่าๆๆๆ

ถึงจะเรียกว่าลอดช่องเหมือนกัน แต่วัตถุดิบและกรรมวิธีการทำของลอดช่องสิงคโปร์นั้นแตกต่างจากลอดช่องไทย รสชาติจึงแตกต่างกันไปด้วย ลอดช่องน้ำกะทิของไทยนั้นจะเด่นที่รสชาติกะทิที่หอมมัน ส่วนลอดช่องสิงคโปร์ ตัวเส้นจะให้ความรู้สึกเหนียวๆ หนึบๆ รสชาติกะทิไม่เด่นนัก แต่มีกลิ่นหอมและรสชาติหวานๆ จากน้ำตาลทรายแดงเข้ามาแทน

สาเหตุที่เรียกว่า “ลอดช่องสิงคโปร์” ก็เนื่องจากที่ตั้งร้านอยู่บริเวณทางเข้าโรงภาพยนตร์สิงคโปร์ ชื่อเสียงความอร่อยนั้นเป็นที่เลื่องลือจนเรียกกันมาปากต่อปากว่า “ลอดช่องหน้าโรงหนังสิงคโปร์” และในที่สุดก็กลายมาเป็น “ลอดช่องสิงคโปร์” นั่นเอง
พิกัด : https://goo.gl/maps/nB9WpN9hJAJ2

Scroll to Top
Send this to a friend