✨ 10 สถานที่ท่องเที่ยวปราสาทหิน ✨

อารยธรรมขอมมีความเก่าแก่ และมีความสำคัญอย่างมาก ข้อหนึ่งที่เห็นได้ก็คือก่อให้เกิดศิลปะอันทรงคุณค่า เกิดเป็นสถาปัตยกรรมอันงดงามให้เราได้ชมจนถึงทุกวันนี้

การเผยแพร่อิทธิพลขอมในไทยที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ “ปราสาทหิน” ในประเทศไทยมีปราสาทหินโบราณที่สร้างในสมัยที่อาณาจักรขอมโบราณเจริญรุ่งเรืองนับร้อยแห่ง ทั้งอโรคยาศาลา ที่พักคนเดินทาง สะพานขอม หลายแห่งชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ก็มีอีกหลายแห่งที่ยังคงสภาพสมบูรณ์รวมถึงมีการบูรณะซ่อมแซมให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด วันนี้ แอดขอยก 10 สถานที่ปราสาทหินถิ่นแดนไทยมาแนะนำเพื่อน ๆ กัน

📍 อุทยานประวัติศาสตร์สด๊กก๊อกธม จังหวัดสระแก้ว

ปราสาทสด๊กก๊อกธม เป็นชื่อเรียกในภาษาเขมร ตั้งอยู่ในจังหวัดสระแก้วที่มีอาณาเขตติดต่อกับกัมพูชา ราวกับเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางปราสาทขอมโบราณที่เผยแพร่เข้ามาในไทย อาคารโบราณสถานเป็นแบบศาสนสถานฮินดู ก่อด้วยหินทรายและศิลาแลงตามลักษณะศิลปะขอม แบบคลัง-บาปวน สร้างในช่วงพุทธศวรรษที่ 15-16

ปัจจุบัน ปราสาทสด๊กก๊อกธม ได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้มีสภาพสมบูรณ์ตามแบบเดิม และยังได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่ที่รวบรวมประวัติ สถาปัตยกรรมของสด๊กก๊อกธม รวมทั้งนิทรรศการพิเศษเจาะลึกปราสาทเขมรในไทยอย่างละเอียดอีกด้วย

  • 📍 บ้านหนองเสม็ด ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว
  • ⏰ เปิดทุกวัน เวลา 08.30 – 16.30 น. (ศูนย์บริการข้อมูล เปิดทุกวัน เวลา 9.00 – 16.00 น.)
  • 📞 037 550 454
  • 🌐https://goo.gl/maps/u5LMfmmoV266qGNB6

📍 ปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์

สร้างขึ้นตามรูปแบบศิลปกรรมเขมรโบราณ ตรงกับศิลปะสมัยบาปวนต่อเนื่องถึงสมัยนครวัด ช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 เพื่อเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ที่นับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ภายในประกอบด้วย ปราสาทอิฐ 5 หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน โดยมีปราสาทประธานอยู่ตรงกลาง

สิ่งที่น่าสนใจของปราสาทศีขรภูมิ คือ ทับหลังหินทรายเหนือกรอบประตูทางเข้าปราสาทประธาน จำหลักเป็นรูปศิวนาฏราช (พระศิวะทรงฟ้อนรำ) อยู่บนหงส์ 3 ตัว เหนือหน้ากาล แวดล้อมไปด้วยบริวารที่ร่วมทรงดนตรี และยังมีรูปจำหลักเทพองค์สำคัญอยู่รอบ ๆ รูปศิวนาฏราช

  • 📍 บ้านปราสาท ตำบลระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
  • ⏰ เปิดทุกวัน เวลา 07.30-18.00 น.
  • 💵 ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ต่างชาติ 50 บาท
  • 📞 044 508 240
  • 🌐https://goo.gl/maps/k2pmA9h6has6EiTcA

📍 โบราณสถานกลุ่มปราสาทตาเมือน จังหวัดสุรินทร์

กลุ่มปราสาทตาเมือน เป็นโบราณสถานที่มีปราสาททั้งหมดสามแห่งตั้งอยู่ใกล้กัน และมีความสำคัญแตกต่างกัน ได้แก่ ปราสาทตาเมือน เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน สร้างขึ้นเพื่อเป็นธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทาง ปราสาทตาเมือนโต๊ด เป็นอโรคยาศาลหรือสถานพยาบาลของชุมชน และอย่างในภาพนี้คือปราสาทตาเมือนธม สร้างขึ้นในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด เป็นปราสาทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มปราสาทตาเมือน และสันนิษฐานว่าเก่าแก่ที่สุด

เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา แนะนำให้สอบถามข้อมูลจากหน่วยทหารที่ดูแลพื้นที่บริเวณนั้นก่อน และนำบัตรประชาชนติดตัวไปทุกครั้ง

  • 📍 บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
  • ⏰ เปิดทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
  • 📞 044 508 240
  • 🌐https://goo.gl/maps/k2pmA9h6has6EiTcA

📍 ปราสาทสระกำแพงใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ

จังหวัดศรีสะเกษ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดในภาคอีสานตอนใต้ที่มีอาณาเขตติดต่อกับกัมพูชา ที่สำคัญยังคงวัฒนธรรมขอมเอาไว้อยู่ด้วย โบราณสถานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมขอมในอดีต คือ “ปราสาทสระกำแพงใหญ่”

ปัจจุบัน ตั้งอยู่ภายในวัดสระกำแพงใหญ่ เป็นปราสาทขอมที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดศรีสะเกษ สันนิษฐานว่าปราสาทแห่งนี้สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับศิลปะขอมแบบบาปวน เพื่อเป็นเทวาลัยถวายแด่พระศิวะ มีลักษณะเป็นปรางค์ 3 องค์บนฐานเดียวกัน ปรางค์ประธานอยู่ตรงกลาง ก่อด้วยหินทราย มีอิฐแซมบางส่วน ภายในมีทับหลังจำหลักภาพพระอินทร์ทรงช้างบนแท่นเหนือหน้ากาล

  • 📍 ตำบลสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
  • 📞 062 142 9261
  • 🌐 https://goo.gl/maps/G5YQPqnrqVk7zRdv5

📍 อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์

ปราสาทหินในไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดคงต้องยกให้ “ปราสาทหินพนมรุ้ง” โบราณสถานที่มีสภาพสมบูรณ์อย่างมาก และมีขนาดใหญ่กว่า 451 ไร่ ปราสาทหินพนมรุ้งตั้งอยู่บนภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว เป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย เขาพนมรุ้งและปราสาทบนยอดเขาจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสอันเป็นที่ประทับของพระศิวะ และยังเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลอีกด้วย กลุ่มอาคารบนยอดเขามีการก่อสร้างหลายยุคสมัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 – 18

“พนมรุ้ง” หรือ “วนํรุง” เป็นภาษาเขมร แปลว่า “ภูเขาอันกว้างใหญ่” โดยคำนี้ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกอักษรขอมที่พบที่ปราสาทหินพนมรุ้ง และยังปรากฏชื่อผู้สร้างปราสาท คือ “นเรนทราทิตย์” เชื้อสายราชวงศ์มหิธรปุระ ผู้เกี่ยวข้องเป็นพระญาติกับพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด

  • 📍ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
  • 💵 อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท หากไปชมปราสาทหินเมืองต่ำด้วย สามารถซื้อตั๋วเหมาได้ ชาวไทย 30 บาท ต่างชาติ 150 บาท
  • ⏰ เปิดทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
  • 📞 044 666 251-2
  • 🌐https://goo.gl/maps/yWnKAEJdBiyfH5mA9

📍 ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์

ปราสาทแห่งนี้มีลักษณะของศิลปะขอมแบบบาปวน ปนด้วยศิลปะขอมแบบคลัง ภาพจำหลักส่วนใหญ่เป็นภาพเทพในศาสนาฮินดู ภายในปราสาท มีปรางค์อิฐ 5 องค์สร้างอยู่บนฐานเดียวกัน โดยองค์ปรางค์ประธานเหลือแต่เพียงฐาน นอกจากนี้ ยังมีบารายขนาดใหญ่อยู่ทางทิศเหนือของปราสาท ชาวบ้านเรียกกันว่า “ทะเลเมืองต่ำ”

จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณในละแวกนี้อยู่หลายชุมชน ที่สำคัญยังมีการขุดพบโบราณวัตถุมากมายที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า บริเวณนี้มีชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่มีการสร้างปราสาทเมืองต่ำ

  • 📍 ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์
  • 💵 อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท หากไปชมปราสาทหินพนมรุ้งด้วย สามารถซื้อตั๋วเหมาได้ ชาวไทย 30 บาท ต่างชาติ 150 บาท
  • ⏰ เปิดทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น.
  • 📞 044 666 251-2 (อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง)
  • 🌐https://goo.gl/maps/92UhWwjtSuewZT8a9

📍 อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ถ้าถามถึงปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในไทย ต้องมาชมที่ “ปราสาทหินพิมาย” จังหวัดนครราชสีมา เมืองลุ่มแม่น้ำที่มีอดีตอันรุ่งเรืองและมีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ตั้งอยู่บนพื้นที่ปากประตูสําคัญจากลุ่มแม่น้ำมูลไปสู่เมืองพระนคร อาณาจักรกัมพูชา ปราสาทหินพิมายนับเป็นพุทธศาสนสถานในลัทธิมหายานที่สร้างขึ้นในราว ๆ กลางพุทธศตวรรษที่ 16 เดิมทีมีสภาพทรุดโทรมเกือบทั้งหมด จนกระทั่งปี พ.ศ. 2507 กรมศิลปากรได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศฝรั่งเศส สนับสนุนองค์ปรางค์ประธานของปราสาทหินพิมายจนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2511

“พิมาย” สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคำเดียวกับชื่อ “วิมายะ” ที่ปรากฏอยู่ในจารึกภาษาเขมรบนแผ่นหินกรอบประตูโคปุระระเบียงคดด้านหน้าของปราสาทพิมาย และยังปรากฏเป็นชื่อเมืองในศิลาจารึกที่พบในกัมพูชาหลายแห่ง

  • 📍 ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
  • 💵 ค่าเข้าชมชาวไทย 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท
  • ⏰ เปิดทุกวัน เวลา 07.00-18.00 น.
  • 📞 044 471 568
  • 🌐 https://goo.gl/maps/SdKwpan7Xvwrmcoi7

📍 อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

ทางตอนเหนือของไทยซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับภาคอีสาน ยังมีโบราณสถานลักษณะทรงปราสาทหินอีกหนึ่งแห่งที่ “เมืองโบราณศรีเทพ” เดิมทีชาวบ้านในท้องถิ่นเรียกขานกันว่า “เมืองอภัยสาลี” สร้างขึ้นในยุคขอมเรืองอำนาจ มีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี

ผังเมืองโบราณศรีเทพมีลักษณะต่างกับเมืองโบราณที่อื่น ๆ คือมีลักษณะค่อนข้างกลม ภายในอุทยานฯ มีโบราณสถานและสถานที่สำคัญ ได้แก่ ปรางค์สองพี่น้อง ลักษณะเป็นปรางค์ 2 องค์ ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่ พบทับหลังที่มีการจำหลักเป็นรูปพระอิศวรอุ้มนางปารพตีประทับนั่งอยู่เหนือโคอุศุภราช ซึ่งเป็นศิลปะขอมแบบบาปวน ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 นอกจากนี้ยังมีการขุดค้นพบโครงกระดูกมนุษย์และโครงกระดูกช้างที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี เมื่อ พ.ศ. 2531 จึงได้ทำเป็นอาคารจัดแสดงโครงกระดูกขึ้นมา รวมถึงจัดทำอาคารแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเมืองโบราณศรีเทพ

  • 📍 เลขที่ 208 หมู่ 13 ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
  • 💵 ค่าเข้าชมชาวไทย 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท
  • ⏰ เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 16.30 น.
  • 📞 056 921 317, 056 921 322
  • 🌐https://goo.gl/maps/SdKwpan7Xvwrmcoi7

📍 พระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี

เพื่อน ๆ หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าแม้แต่ในภาคกลางเองก็มีปราสาทหินอารยธรรมขอมด้วยเช่นกัน “พระปรางค์สามยอด” มีลักษณะเป็นศิลปะเขมรแบบบายน ปรางค์เรียงต่อกัน 3 องค์ สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18 ทำจากศิลาแลง ตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม เสาประดับกรอบประตูแกะสลักเป็นรูปฤๅษีนั่งชันเข่าในซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งเป็นแบบเฉพาะของเสาประดับกรอบประตูศิลปะเขมรแบบบายน

ปรางค์สามยอดนี้แต่เดิมสันนิษฐานว่าเป็นเทวสถานของขอมในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ต่อมาได้ดัดแปลงเป็นเทวสถาน โดยมีฐานศิวลึงค์ปรากฏอยู่ในองค์ปรางค์ทั้งสามปรางค์ จนกระทั่งถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงได้บูรณปฏิสังขรณ์พระปรางค์สามยอดเป็นวัดในพระพุทธศาสนา แล้วสร้างพระวิหารก่อด้วยอิฐลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาผสมแบบยุโรปในส่วนของประตูและหน้าต่าง ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย ปางมารวิชัย เป็นศิลปะอยุธยาตอนต้น

  • 📍 ตำบลท่าหิน อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
  • 💵 ค่าเข้าชมชาวไทย 10 บาท ต่างชาติ 50 บาท
  • ⏰ เปิดวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 06.00 – 18.00 น.
  • 🌐https://goo.gl/maps/36hJicaGassDPHJA9

📍 อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี

สุดเขตแดนฝั่งตะวันตกก็มีปราสาทขอมเช่นกัน เป็นปราสาทที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งตรงกับในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์ผู้สร้างปราสาทหินเอาไว้มากมาย “ปราสาทเมืองสิงห์” เป็นศิลปะขอมแบบบายน มีการค้นพบโบราณสถานถึง 4 แห่งด้วยกัน สร้างไล่ตามลำดับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18-20 มีปราสาทองค์เดียวเป็นประธาน สร้างด้วยศิลาแลง ล้อมรอบด้วยระเบียงคด

จากการขุดแต่งของกรมศิลปากร พบศิลปกรรมที่สำคัญคือพระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร นางปรัชญาปารมิตา และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี ซึ่งองค์หลังนี้มีลักษณะคล้ายกับที่พบในกัมพูชา ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ และนำองค์จำลองมาจัดแสดงแทนภายในอุทยานประวัติศาสตร์

  • 📍 ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
  • 💵 ค่าเข้าชมชาวไทย 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท
  • ⏰ เปิดทุกวัน เวลา 08.00 – 16.30 น.
  • 📞 034 670 264-5
  • 🌐https://goo.gl/maps/eUkDLwRby5GsPR6u9
Scroll to Top
Send this to a friend