ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร 5 แกรนด์แคนยอนเมืองไทย

1.ละลุ จ.สระแก้ว

คำว่า “ละลุ” เป็นภาษาเขมร แปลว่า ทะลุ เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม เกิดจากการที่ดินถูกลมและฝนกัดกร่อน จนมีลักษณะเป็นรูปร่างต่างๆ กัน มองคล้ายกำแพงเมือง หน้าผา บ้างก็มีลักษณะเป็นแท่งๆ จึงทำให้ละลุมีความสวยงามแปลกตา แตกต่างกันตามจินตนาการของแต่ละคน สวยจนได้รับสมญานามว่าเป็น “แกรนด์แคนยอนเมืองไทย”

การเข้าชมละลุ
นักท่องเที่ยวต้องจอดรถไว้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว จากนั้นใช้บริการรถอีแต๊กของชาวบ้านเข้าไปชมละลุ ค่าเช่ารถประมาณ 200 บาท นั่งได้ 8-10 คน โดยมีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นหรือยุวมัคคุเทศก์ท้องถิ่นคอยให้ความรู้ด้วย 

สาเหตุที่ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขับรถเข้าไปชมละลุเองนั้นก็เพราะอาจทำให้ดินบริเวณนั้นเกิดการยุบตัว และสร้างความเสียหายให้กับละลุได้นั่นเอง

หากใครต้องการพักค้างแรม ที่นี่ก็มีบริการบ้านพักที่ศูนย์บริการ หรือจะพักโฮมสเตย์ของชาวบ้านก็ได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 087 138 0865, 087 125 3709, 086 024 6678

ละลุเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-18.00 น.

การเดินทาง 

2.ผาช่อ จ.เชียงใหม่

ผาช่อ เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เกิดจากการกัดเซาะของลมและฝน เชื่อกันว่าเมื่อหลายร้อยหรือหลายพันปีก่อน บริเวณแห่งนี้เคยเป็นทางเดินของแม่น้ำปิง สังเกตได้จากก้อนกรวดหินกลมมนซึ่งพบกระจัดกระจายอยู่ในเนื้อดินจำนวนมาก 

ภายหลังแม่น้ำปิงได้เปลี่ยนเส้นทางไป บริเวณนี้ก็ได้ยกตัวเป็นเนินเขาสูง ตะกอนแม่น้ำปิงก่อตัวทับถมกันเป็นชั้นๆ ผ่านวันเวลา และถูกกัดเซาะจนกลายเป็นหน้าผาและเสาดินที่มีรูปร่างแปลกตา

ช่วงเวลาการท่องเที่ยว : สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่ช่วงที่ดีที่สุดคือระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

ค่าเข้าชม :
ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท

การเดินทาง 

3.กองแลน จ.แม่ฮ่องสอน

กองแลน มีอีกชื่อหนึ่งว่า “ปายแคนยอน” มีที่มาจากลักษณะของภูมิประเทศที่คล้ายแกรนด์แคนยอน แต่อยู่ที่อำเภอปาย จึงได้ชื่อว่า “ปายแคนยอน” นั่นเอง

กองแลนมาจากภาษาพื้นเมือง “กอง” หมายถึง ถนนหรือเส้นทางที่ใช้สัญจร ส่วน “แลน” หมายถึง ตะกวด (ตัวเงินตัวทอง) “กองแลน” จึงหมายถึง เส้นทางสัญจรของตะกวด ซึ่งเป็นทางที่แคบและเล็ก

เกิดจากเกิดจากการยุบตัวของภูมิประเทศ กลายเป็นภูเขาหินที่ลดหลั่นกันเป็นส่วนๆ บางส่วนยุบตัวมากกลายเป็นเหวลึก บางส่วนยังเหลือเป็นแนวสันเขาที่เป็นทางแคบๆ พอให้เดินได้ทีละคนเท่านั้น การยุบตัวและแผ่นดินที่ถูกกัดเซาะกินอาณาบริเวณกว่า 5 ไร่ 

ช่วงเวลาการท่องเที่ยว : สามารถเที่ยวได้ทุกฤดูกาล และควรไปในช่วงเช้าหรือเย็น เพราะเวลากลางวันแดดจะร้อนจัด

หากใครชอบการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติผสานความตื่นเต้นแล้วละก็ กองแลนก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะได้กินลมชมวิวชมธรรมชาติแล้ว ตามเส้นทางเดินที่แคบและสูงชันก็สร้างความตื่นเต้นให้เราไม่น้อย

การเดินทาง 

4.เสาดินนาน้อย-คอกเสือ จ.น่าน

เสาดินนาน้อย (ฮ่อมจ๊อม) มีลักษณะเป็นหุบผาและแท่งดินสีแดงปนส้มรูปทรงต่างๆ กันไป บ้างเป็นแท่งแหลม บ้างก็มนกลม คล้ายฉาก คล้ายหลืบม่าน กระจายอยู่ในพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ โดยมีป่าเต็งรังขึ้นอยู่กระจัดกระจาย 

เสาดินนาน้อยเกิดจากการที่ดินตะกอนทับถมและเลื่อนตัวสูงขึ้นจากผิวดิน ผ่านกาลเวลามานานราว 30,000-10,000 ปี สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นก้นทะเลมาก่อน นอกจากนี้ยังค้นพบกำไลหินและขวานโบราณที่นี่ (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน) แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้อาจเคยเป็นแหล่งอาศัยของมนุษย์ยุคหินเก่าอีกด้วย

ในช่วงฤดูหนาวป่าเต็งรังบริเวณรอบๆ เสาดินจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แดง ส้ม น้ำตาล ตัดกับสีน้ำเงินเข้มของท้องฟ้า สวยงามน่าชม

ห่างจากเสาดินนาน้อยมาประมาณ 300 เมตร ก็จะพบกับคอกเสือ ซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งลึกจากเนินดินด้านบนประมาณ10 เมตร เมื่อลงไปจะพบว่าบริเวณรอบๆ หุบผามีลักษณะเป็นหลืบม่าน รวมถึงมีแท่งดินรูปร่างต่างๆ กระจัดกระจายเหมือนกับที่เสาดินนาน้อย

ชาวบ้านเล่ากันว่า ในสมัยก่อนบริเวณนี้มีเสืออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งชอบมาขโมยกินวัว ควาย และหมูของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงช่วยกันไล่ต้อนเสือให้ตกลงไปในบ่อดินดังกล่าว แล้วใช้ก้อนหินและไม้แหลมขว้างจนเสือตาย จึงได้เรียกบริเวณนี้ว่า “คอกเสือ” 

แม้ว่าคอกเสือจะมีพื้นที่ไม่มากนัก แต่ก็มีความงดงามเฉพาะตัว แตกต่างไปจากที่เสาดินนาน้อย จึงไม่ควรพลาดชมทั้ง 2 แห่ง

ช่วงเวลาการท่องเที่ยว : ช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-กุมภาพันธ์ 

ค่าเข้าชม :
ชาวไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท
ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท

เสาดินนาน้อยและคอกเสือ เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 07.00-17.00 น.

การเดินทาง 

5.แพะเมืองผี จ.แพร่

แพะเมืองผี ความสวยงามที่ธรรมชาติได้สรรค์สร้างขึ้นอย่างลงตัว จนปรากฏเป็นประติมากรรมธรรมชาติที่สามารถจับต้องได้

คำว่า “แพะ” เป็นภาษาพื้นเมือง แปลว่า ป่าละเมาะ ส่วน “เมืองผี” หมายถึงความเงียบเหงาวังเวง ซึ่งชื่อนี้อาจได้มาจากสภาพภูมิประเทศที่ดูเร้นลับน่ากลัวก็เป็นได้

แพะเมืองผี เกิดจากกรวดหินดินทราย อายุประมาณ 10,000-30,000 ปี ที่จับตัวกันไม่แน่นหนา ถูกกัดเซาะด้วยกระแสน้ำเป็นเวลานาน จนเกิดเป็นหน้าผาสูงต่ำสลับกัน และเกิดเสาดินเป็นแท่งกระจายอยู่ในพื้นที่ มีรูปร่างแตกต่างกันสวยงามแปลกตา เช่น ดอกเห็ดยักษ์ หน้าผา เสาม่าน แล้วแต่จินตนาการของผู้พบเห็น จนได้รับการขนานนามว่าเป็นสถานที่แห่งความลับของดินตะกอน

สำหรับผู้ที่หลงใหลการถ่ายภาพ ภาพกำแพงหินทรายสีน้ำตาลอ่อนตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้มนั้นคงทำให้ช่างภาพกดชัตเตอร์กันได้รัวๆ อย่างไม่มีเบื่อ ประติมากรรมธรรมชาติรูปทรงต่างๆ ก็น่าเก็บไว้เป็นภาพความประทับใจจนเลือกไม่ถูกเลยทีเดียว 

นอกจากนี้ตามรายทางยังมีลำธารเล็กๆ ไหลผ่านให้ชุ่มฉ่ำใจ จะนั่งทอดอารมณ์สัมผัสกับเสียงดนตรีแห่งธรรมชาติ ฟังเสียงสายลม ปล่อยใจไปกับจินตนาการก็ย่อมได้ ทุกวันนี้ความเร้นลับของประติมากรรมธรรมชาติรูปทรงแปลกประหลาดเหล่านี้ ก็ยังคงเชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวเข้าไปไขปริศนาอยู่

แพะเมืองผีเปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.00-18.00 น ไม่เสียค่าธรรมเนียม

การเดินทาง 

Scroll to Top
Send this to a friend