ชิม ‘เชียงคํา’ ทีละคําสองคํา ตอนที่ 2

ที่ตลาดสดเทศบาล 1 คือตลาดสดหลักของ อ.เชียงคํา ที่ไม่ได้คึกคักแค่ในตัวตลาดสดที่อยู่ในร่มเท่านั้น แต่บนถนนข้างๆ ตลาดก็ยังกลายเป็นถนนคนเดินที่มีพ่อค้าแม่ขายมาปูเสื่อ กางร่ม เข็นรถเข็นมาขายอาหารเช้าแบบสุดแสนจะน่ากินราวกับว่าไม่มีใครยอมแพ้ใครเลยทีเดียว

เราเริ่มจากการเข้าไปกินอาหารเช้าในร้านดังประจําตลาดที่ปูโต๊ะให้คนนั่งกินรอบคูหาก่อนจะเดินช้อปของกิ๋นถูกใจกลับมากินต่อในมื้อกลางวัน โดยวางแผนไว้ว่าจะเอาอาหารไปปูเสื่อกินกันที่นํ้าตกดังประจําถิ่น ว่าแล้วก็ไปลุยหาอาหารกัน!

เมนูที่ 1 – ก๋วยเตี๋ยวนํ้าเงี้ยว
.
ร้านคําเอ้ย คือร้านขนมจีนนํ้าเงี้ยวเจ้าเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ในตลาด ความคลาสสิกคือมีคุณป้ายืนเด่นทําอาหารอยู่ตรงกลางเหมือนเป็นบาร์ แล้วรอบๆ คูหาก็เป็นทีนั่งกิน ซึ่งจุคนได้ราวๆ รอบละ 4-5 คนเท่านั้นจนต้องรอคิว ซึ่ง ไม่ใช่แค่บรรยากาศของร้านที่คึกคักชวนอร่อยนะ แต่คุณแม่สามีกระซิบบอกว่า ความเด็ดของร้านป้าคือเมนูก๋วยเตี๋ยวนํ้าเงี้ยว ที่เปลี่ยนจากเส้นขนมจีนมาใส่เส้นใหญ่แทน แต่เส้นใหญ่ของที่นี่หน้าตาเหมือนเส้นเล็กนะ
.
พอได้ที่นั่ง เราก็สั่งเมนูเด็ดที่แม่ว่ามากิน ซึ่งคอนเฟิร์มว่ามันเด็ดจริง ไม่เพียงนํ้าซุปนํ้าเงี้ยวที่อร่อยกลมกล่อม ถั่วงอกหัวโตที่ให้เติมได้เองไม่อั้น พริกคั่วหอมๆ ที่ใส่แล้วเพิ่มความอร่อยจัดจ้าน แต่ทีเด็ดจริงๆ คือเส้นใหญ่ที่เหนียวนุ่ม กลิ่นดี ซอยมาบางๆ ให้พอซึมซับเข้ากับนํ้าซุป เป็นเมนูยามเช้าที่บอกเลยว่าฟิน ถ้ามาที่นี่ต้องแวะมากิน 

เมนูที่ 2 – ข้าวเกรียบปากหม้อเวอร์ชั่นพะเยา
.
ฟังชื่อเหมือนจะธรรมดา หากินง่ายในกรุงเทพฯ ใช่ไหม แต่ข้าวเกรียบปากหม้อของที่นี่มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย สําหรับเราเมนูนี้คือส่วนผสมของอาหารคาวและขนมหวานแบบที่เข้ากันได้ดีสุดๆ โดยในตลาดจะมีให้เลือกสองแบบคือแบบคาวกับหวาน เราเลือกแบบคาวกลับมาลองกิน สิ่งที่แปลกคือข้าวเกรียบปากหม้อที่นี่เปนไส้หน่อไม้ผัดหมูสับ ห่อด้วยแป้งบางเฉียบ โรยด้วยตั้งไฉ่ที่มีรสเค็มนิดๆ แต่ดันราดด้วยนํ้ากะทิ! พอชิมเข้าไป
แล้วกลับกลายเป็นความเค็มหน่อยๆ มันนิดๆ ราดลงไปบนเท็กซ์เจอร์นุ่มนิ่ม และไส้แสนอร่อยกรุบๆ ที่สุดจะลงตัว สรุปว่าชอบจริงจังจนอยากให้มีแบบนี้ขายที่กรุงเทพฯ บ้าง 

เมนูที่ 3 – แกงกระด้าง
.
เคยได้ยินเมนูแกงกระด้างมาบ้างเวลาไปเที่ยวเชียงใหม่ แต่ก็ไม่มีโอกาสได้ชิมเพราะฟังชื่อแล้วดูไม่น่าอร่อย พอมาเที่ยวพะเยาเราได้เจอขายอยู่ในตลาดแทบทุกวัน บวกกับคิดว่าวันนี้อยากได้อาหารเที่ยงที่พกพาง่ายไปกินที่นํ้าตก ก็เลยสบโอกาสได้ลองดูสักตั้ง
.
ความรู้ใหม่ที่เราได้เรียนรู้คือ แกงกระด้างแบบออริจินอลมันจะต้องจับตัวกันเป็นก้อนได้ด้วยไขมันจากขาหมู (ไม่ได้ใส่ผงวุ้นอย่างที่เคยคิด) แถมเป็นอาหารประจําฤดูหนาวเพราะต้องใช้ลมหนาวเป็นอาวุธในการปรุงให้มันเย็นตัวจนจับกันเป็นก้อนอย่างที่เห็น ซึ่งลองกินแล้วพบว่ากินง่ายเพราะรสชาติเหมือนแกงใส่พริกแห้ง แต่แค่เย็นกว่าและจิ้มด้วยมือเอามากินกับข้าวเหนียวได้ง่าย เป็นแกงที่กินแล้วสดชื่นเฉยเลย

เมนูที่ 4 – จิ๊นงัวนึ่ง นํ้าพริกข่า
.
จิ๊นคือคําเรียกเมนูอาหารเหนือที่เป็นเนื้อสัตว์ แต่เป็นที่รู้กันดีว่าถ้าพูดถึงจิ๊นนึ่ง มันก็คือเนื้อควายหรือวัวนึ่ง ซึ่งวิธีการทําจิ๊นนึ่งเป็นอะไรที่ค่อนข้างยุ่งยากและใช้เวลานาน ต้องนําไปหมักเครื่องเทศก่อนแล้วค่อยนํามานึ่งกับใบมะกรูดจนกว่าเนื้อจะเปื่อยนุ่มจนได้ที่ จิ๊นนึ่งเจ้านี้ที่เราไปเจอในตลาดถึงได้ราคาสูงกว่าเมนูอื่นๆ เป็นพิเศษ คือขีดละราวๆ 60 บาท
.
ความอร่อยของจิ๊นนึ่งคือรสชาติของเนื้อวัวที่หมักกับเครื่องเทศจนหอม กลิ่นชัด และต้องกินคู่กับนํ้าพริกข่าที่คั่วจนแห้งได้ที่ มันคือการผสมกันอย่างลงตัวของกลิ่นเนื้อวัวที่ย่างจนหอมและเปื่อยนุ่มกับสมุนไพรกลิ่นชัดอย่างข่า ที่หาคําอธิบายไม่ถูกแต่ควรไปลองเอง

เมนูที่ 5 – หน่อยัดไส้

เมนูนี้คล้ายๆ กับคั่วหน่อไม้เวอร์ชั่นกลับมาเกิดใหม่ ในรูปลักษณ์ที่พกพาง่ายกว่า เปลี่ยนจากการผัดเป็นการยัดหมูสับหมักลงไปในหน่อไม้ แล้วปิดหน่อให้เรียบร้อยก่อนจะเอาไปชุบไข่แล้วทอดจนสุกเหลือง ตอนซื้อแม่ค้าเขาก็จะห่อใส่ใบตองมาให้เป็นแท่งยาวๆ ถ้าเอาไปกินที่บ้านจะหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ก็ได้ แต่ถ้าพกไปกินข้างนอกแล้วไม่สะดวกหั่นก็ใช้ช้อนตักกินกันพอไหว รสชาติก็เป็นมิตรคล้ายๆ กับคั่วหน่อเลย

เมนูที่ 6 – ข้าวเหลือง
.
ถ้าให้รีวิวเมนูนี้แบบสั้นง่าย ก็บอกได้เลยว่ามันคือข้าวหมกไก่ที่เปลี่ยนจากข้าวสวยมาใช้ข้าวเหนียวแทนนั่นเอง เมนูนี้เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวไทใหญ่ และเดาว่าพะเยาน่าจะได้รับต่อมาจากเชียงรายอีกที แบบดั้งเดิมชาวไทใหญ่เขาจะใช้ดอกไม้สีเหลืองที่ชื่อดอกกู้ดในการให้สีเหลือง แต่ปัจจุบันเข้าใจว่าน่าจะปรับมาใช้ขมิ้น เหมือนกับข้าวหมกไก่
.
ในมุมของรสชาติที่ลองกิน เรารู้สึกว่ามันอร่อยและไม่เหมือนข้าวหมกตรงที่รสชาติของข้าวเหนียวที่ปรุงมาแบบติดเค็มนิดๆ กินกับเนื้อไก่ที่โปะมาให้แล้วเข้ากันดี จนแทบไม่ต้องปรุงหรือจิ้มอะไรเพิ่มเลยล่ะ

เมนูที่ 7 – ข้าวแรมฟืน
.
เมนูสุดท้ายที่ต้องเก็บไว้เป็นไฮไลต์ คือข้าวแรมฟืน ซึ่งเป็นอาหารไทลื้อที่หาทานยากและเราทําการบ้านมานานแล้วว่าถ้ามาพะเยาจะต้องมาชิมให้ได้ เพราะที่ อ.เชียงคํา มีร้านดังอยู่เจ้าหนึ่งนั่นก็คือข้าวแรมฟืนปาจิ่ง ซึ่งขายมานานกว่า 60 ปี แต่พอถึงวันที่ได้มาเที่ยว เรากลับพบว่าร้านป้าจิ่งหยุดในช่วงที่เราไปพอดี เลยต้องปลอบใจตัวเองด้วยการลองกินข้าวแรมฟืนเวอร์ชั่นร้านในตลาดเทศบาล 1 แทน
.
ความไม่เหมือนใครของข้าวแรมฟืน คือส่วนผสมหลักที่เป็นแป้งก้อนๆ ทําจากแป้งที่เอาไปโม่และเคี่ยว หมักทิ้งไว้ข้ามคืนจนกลายเป็นก้อน แล้วเอามาหั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าราดด้วยนํ้าที่คล้ายๆ นํ้ายําถึง 5 อย่าง ทั้งนํ้าเต้าหู้ยี้เคี่ยวนํ้าอ้อย นํ้าผักกาดดอง ตามด้วยนํ้าขิง ถั่วป่น และพริกแห้งตําที่คั่วจนหอม ชิมแล้วเหมือนได้กินก๋วยเตี๋ยวที่มีรสเปรี้ยวหวานเค็ม สดชื่นจนเข้าใจแล้วว่าทําไมถึงเป็นเมนูที่ชาวบ้านแถวนี้โปรดปรานกันมาอย่างยาวนาน ถึงแม้มาคราวนี้จะไม่ได้กินร้านดัง ก็ตั้งใจไว้ว่าถ้าได้กลับมาเที่ยวอีก ก็จะขอมาชิมฝีมือป้าจิ่งที่ร้านให้จงได้! 

ปิดท้ายการรีวิว อ.เชียงคํา หลังจากที่ลงแต่รูปอาหารแบบไม่มีที่เที่ยวเลยสักนิด เลยขออวดภาพของฉันตอนพกพาอาหารพื้นถิ่นไปนั่งกินที่นํ้าตกภูซาง นํ้าตกยอดฮิตของผู้คนที่นี่ ฉันคิดว่าอาหารพื้นถิ่นนี่แหละคือเสน่ห์ของการท่องเที่ยวเมืองรองอย่างพะเยา โดยเฉพาะในอําเภอเล็กๆ ที่อาจจะไม่ได้มีแลนด์มาร์กดังๆ อย่างใครเขา เพราะฉันเชื่อว่าวัฒนธรรมอาหารที่แตกต่าง คือสะพานเชื่อมโยงตัวเราเข้ากับชุมชนที่เราไม่เคยรู้จักประสบการณ์การกินอาหารพื้นถิ่นของที่นี่ ทําให้ได้เห็นความน่ารักของชุมชน ความอุดมสมบูรณ์ของวัตถุดิบ ไปจนถึงวัฒนธรรมย่อยของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยังหลงเหลือ และทั้งหมดนี้คือรสชาติแปลกใหม่ที่การเดินทางมักมอบให้เราเสมอ

Scroll to Top
Send this to a friend