อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และตำนานรักของนางอุสา

Spread the love

แอดมินจะเล่าตำนานพื้นบ้านของนางอุสาและท้าวบารสให้ฟังอย่างคร่าวๆ…เรื่องนี้เกี่ยวกับความรักของนางอุสา ธิดาบุญธรรมของท้าวกงพาน เจ้าเมืองพาน และท้าวบารส โอรสเจ้าเมืองปะโคเวียงงัว ซึ่งทั้งสองแอบรักกันแต่โดนเจ้าเมืองพานกีดกัน โดยออกอุบายให้สร้างวัดให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน ใครแพ้ต้องโดนตัดหัว ปรากฎว่ากลายเป็นท้าวกงพานที่โดนตัดหัวเสียเอง ต่อมานางอุสาได้ไปอยู่กับท้าวบารส ก็โดนเหล่าชายาของท้าวบารสกลั่นแกล้งสารพัด ถึงขั้นออกอุบายว่าท้าวบารสกำลังมีเคราะห์ วิธีแก้คือต้องออกเดินทางไกลนานเป็นปี ระหว่างนั้นนางอุสาก็กลับมาอยู่ที่เมืองพาน เพราะทนการกลั่นแกล้งไม่ไหว และนางก็เจ็บป่วยเพราะความตรอมใจ เมื่อท้าวบารสกลับมาเจอ นางก็สิ้นใจในอ้อมกอดของสามี หลังจากนั้นท้าวบารสก็ตรอมใจตามนางอุสาไป

ใครอยากอ่านแบบเต็มๆ คลิกเลย :http://www.finearts.go.th/phuphrabathistoricalpark/parameters/km/item/นิทานพื้นบ้านเรื่อง-อุสา-บารส.html

ก่อนจะเข้าไปตามรอยตำนานพื้นบ้านนางอุสากับท้าวบารส เราแวะสักการะพระพุทธบาทบัวบกกันก่อน


พระพุทธบาทบัวบก ตั้งอยู่ในวัดพระพุทธบาทบัวบก บริเวณทางแยกซ้ายมือก่อนถึงที่ทำการอุทยานฯ สร้างขึ้นเมื่อ 90 กว่าปีที่แล้ว บริเวณนี้ได้มีการค้นพบรอยพระพุทธบาท จึงมีการสร้างพระธาตุเจดีย์ครอบไว้ นอกจากนี้ ภายในพระธาตุเจดีย์ยังบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอีกด้วย ในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จะมีงานนมัสการพระพุทธบาทบัวบก

มาเริ่มที่แรกกันเลย หอนางอุสาถือเป็นสัญลักษณ์ของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีลักษณะเป็นเพิงหินธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เกิดจากกระบวนการทางธรรมชาติ อายุเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 12-16 สูงประมาณ 10 เมตร รูปร่างคล้ายดอกเห็ด ตั้งอยู่กลางลานหินโล่งกว้างทำให้ดูโดดเด่นกว่าโบราณสถานจุดอื่นๆ ถูกดัดแปลงเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางพุทธศาสนา

ตามตำนานเล่าว่า…เมื่อนางอุสาโตขึ้นเป็นสาวสวย มีแต่ชายหนุ่มมารุมจีบ ท้าวกงพานหวงนางมากจึงไปสร้างตำหนักสูงไว้บนภูเขา เพื่อให้นางอุสาเก็บตัวและเรียนวิชาจากฤาษีจันทา จึงเชื่อว่าสถานที่นี้คือหอนางอุสา

ถ้ำพระ

มีลักษณะเป็นเพิงหินเตี้ยๆ รูปร่างแคบยาว ถูกดัดแปลงให้เป็นศาสนสถานในศาสนาพุทธ หลักฐานคือที่ผนังใต้เพิงหินมีการแกะสลักเป็นรูปพระพุทธรูปอยู่โดยรอบ ซึ่งนักวิชาการระบุว่าพระพุทธรูปสลักเหล่านี้มีรูปแบบศิลปกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างศิลปะทวารวดีและศิลปะขอม (ศิลปะลพบุรี) จึงสันนิษฐานว่าศาสนสถานแห่งนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-18 ซึ่งเป็นช่วงที่ศิลปะขอมเริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นและแพร่กระจายเข้ามายังดินแดนในประเทศไทย

อีกด้านหนึ่งของถ้ำพระ 

วัดลูกเขย

มีลักษณะเป็นเพิงหินธรรมชาติที่ถูกดัดแปลงใช้เป็นศาสนสถานในลักษณะเดียวกับอุโบสถในปัจจุบัน โดยนำก้อนหินทรายไปสกัดและขัดเรียบก่อนนำมาก่อเป็นผนังสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากวัฒนธรรมขอมโบราณได้แพร่หลายเข้ามายังบริเวณภูพระบาทแล้ว ประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17

ตามตำนานเล่าว่า…สถานที่แห่งนี้คือวัดที่ท้าวบารสสร้างแข่งกับท้าวกงพาน และสร้างจนเสร็จ เป็นเหตุให้ท้าวกงพานต้องโดนตัดหัวเพราะแพ้การแข่งสร้างวัดครั้งนี้

กู่นางอุสา

สันนิษฐานว่าโบราณสถานแห่งนี้อาจเป็นสถานที่ประกอบพิธีสงฆ์ หรือเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยน่าจะมีอายุอยู่ในสมัยทวารวดี

ตามตำนานเล่าว่า…นางอุสาโดนกลั่นแกล้งจากชายาคนอื่นๆของท้าวบารส นางจึงกลับมาอยู่ที่เมืองพานและคิดถึงท้าวบารสจนตรอมใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ เมื่อท้าวบารสกลับจากการเดินทางไกล ก็รีบไปตามหานางอุสา เมื่อพบกันนางอุสาก็สิ้นใจในอ้อมกอดของสามี ท้าวบารสจึงใช้ที่แห่งนี้เป็นที่บรรจุอัฐิของนางอุสา 

ถ้ำวัว-ถ้ำคน

เป็นแหล่งภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตัวเพิงหินมีลักษณะเป็นชะง่อนขนาดใหญ่ใช้กันแดดฝนได้ ส่วนภาพเขียนด้วยสีแดงปนกับสีขาว ซึ่งสีขาวนี้มีทั้งที่เขียนมาแต่เดิมพร้อมกับสีแดงและที่เขียนเพิ่มภายหลัง

ตามตำนานเล่าว่า…ภาพคนทั้ง 7 คนบนผนัง เป็นภาพท้าว พระยามหากษัตริย์ที่พี่เลี้ยงวาดถวายนางอุสา เพื่อให้นางชี้ว่าผู้ใดคือคนที่เทพอุ้มสมให้มาอยู่กับนาง

Scroll to Top