บาบ๋า ย่าหยา เอกลักษณ์ปักษ์ใต้✨💫

เวลาท่องเที่ยวไปทางภาคใต้ เพื่อน ๆ คงเคยได้ยินชื่อเรียก บาบ๋า หรือ ย่าหยา มาบ้าง และอาจเคยสงสัยว่าทำไมจึงเรียกกันเช่นนั้น…วันนี้แอดมีเกร็ดความรู้เรื่องนี้มาให้อ่านกันเพลิน ๆ ค่ะ 🎈

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักที่มาที่ไปกันก่อน ทางภาคใต้ของประเทศไทย มีชาวเปอรานากัน (Peranakan) ซึ่งเป็นคำมลายู แปลว่า ถือกำเนิดที่นี่ เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่มีเชื้อสายผสมระหว่างจีน-มลายู โดยชายจะเรียก บาบ๋า หญิงจะเรียก ย่าหยา ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะอยู่ในจังหวัดภูเก็ต ระนอง พังงา และมีกระจายอยู่บ้างที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี นราธิวาส ถึงแม้ว่าเวลาล่วงเลยมาทำให้เชื้อสายมลายูของชาวเปอรานากันจางลง จนคนรุ่นหลังแทบจะเป็นจีนเต็มตัวไปแล้วแต่ก็ไม่ได้ทำให้วัฒนธรรมผสมผสานของชาวเปอรานากันจืดจางลงไปเลย เพราะยังมีวัฒนธรรมอันโดดเด่นอย่างการแต่งกายให้เราได้เห็นกันอยู่ เพราะชุดบาบ๋าและชุดยาหยาก็มีทั้งแบบผู้ชายและผู้หญิงใส่

ลักษณะชุดย่าหยา หรือ ยะหยา จะใช้ผ้าลูกไม้ หรือ ผ้ารูเบีย ตัดให้เข้ารูป มีทรวดทรงองค์เอว เป็นเสื้อแขนยาว ติดกระดุมสีทอง ความยาวระดับสะโพกบน สามารถประดับได้ด้วยเข็มกลัด ใส่เข้าคู่กับผ้าปาเต๊ะ
ลักษณะชุดบาบ๋า จะเป็นเสื้อคอตั้ง แขนจีบ กระดุมสีทอง มีกระเป๋าสองใบตรงด้านหน้าของเสื้อ ใช้ผ้าคอตตอน ผ้าป่าน หรือผ้าอะไรก็ได้ที่ชอบ ตกแต่งด้วยเข็มกลัด ใส่เข้าคู่กับผ้าปาเต๊ะ

👉ปัจจุบัน ชาวพื้นเมืองยังคงสวมใส่ชุดบาบ๋าย่าหยาในเทศกาลต่าง ๆ โดยเฉพาะในโอกาสสำคัญอย่างพิธีแต่งงาน โดยจะสวมใส่พร้อมด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ ครบครัน หากใครมีโอกาสไปเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ตามถนนคนเดินก็จะมีร้านขายชุดบาบ๋าย่าหยาให้เราได้เลือกซื้อเลือกชมกันหลายร้าน

Scroll to Top
Send this to a friend